RSS

2/28/2010

หอศิลป์กรุงเทพฯ

สวัสดีค่ะเพื่อนๆ
     ดูเรื่องดอกไม้ดินมาหลายตอนแล้ว  วันนี้ขอพาออกมาสู่โลกภายนอกบ้าง  แน่นอน..ต้องมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ  วันนี้จะพาไปที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  (Bangkok Art and Culture Centre) หรือ หอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ อยู่กลางใจเมืองเลยล่ะ  ไปมาสะดวกมาก ทั้งรถประจำทาง และโดยเฉพาะรถไฟฟ้าสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ มีทางเชื่อมต่อเข้าอาคารได้เลย  ก็คืออยู่สี่แยกปทุมวัน หัวมุมถนนพระรามที่ 1 และถนนพญาไทตรงข้ามมาบุญครอง และ สยามดิสคัฟเวอรี่  หรือที่เห็นมีรูปหุ่นตัวโตๆ สีขาว อยู่ด้านหน้าอาคารนั่นแหละค่ะ

     หอศิลป์กรุงเทพฯ  ตัวอาคารสูง 9 ชั้น (บวกอีก 2 ชั้นใต้ดิน) โดยในตัวอาคารออกแบบเป็นทรงกระบอก ซึ่งสามารถเชื่อมต่อระหว่างอาคารได้ด้วยทางเดินวน เป็นแนวเอียงขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้คนที่เข้ามาชมผลงาน สามารถชมได้ต่อเนื่องในแต่ละชั้น นอกจากนี้ตัวอาคารยังออกแบบมาให้สามารถรับแสงสว่างจากภายนอกได้ โดยที่แสงไม่แรงพอจะที่เข้ามาถึงขนาดทำลายผลงานศิลปะที่แสดงอยู่ข้างในได้ นอกจากห้องนิทรรศการที่มีอยู่หลายส่วนแล้ว ภายในยังมีส่วนที่เป็นห้องสมุดประชาชน ห้องปฏิบัติการศิลปะ ห้องอเนกประสงค์ 300 ที่นั่ง ร้านค้า รวมไปถึงโรงภาพยนตร์-โรงละครขนาด 222 ที่นั่ง

   ขอเล่าที่มาของหอศิลป์ให้เพื่อนๆ ทราบย่อๆ นะคะ.. โครงการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2537 โดยกลุ่มศิลปินร่วมสมัยแห่งประเทศไทยนับพันคนได้จัดแสดงผลงานที่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยหวังให้สังคมเห็นว่า มีศิลปินมากพอที่ควรจะมี หอศิลป์ มาเป็นพื้นที่รองรับในการแสดงออกผลงาน และเก็บรักษาผลงานในอดีตและประวัติศาสตร์ เป็นที่รวมกลุ่มศิลปิน เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนความคิด แนวการทำงาน ผลก็คือการผลักดันให้เกิดการพัฒนาของวงศิลปะในบ้านเมืองนี้ 
 

    กำหนดการเดิม หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จะสร้างเสร็จช่วงปลายปี 2549 แต่การก่อสร้างได้ล่าช้าออกไปจากเดิม แล้วเสร็จเปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2551 ค่ะ

ภาพตัวอย่างฝีมือของเด็กๆ.. โปรดติดตามต่อไปนะคะ

2/26/2010

ซิมบิเดียม ดอกไม้ดินญี่ปุ่น - How to Make Clay Cymbidium Orchid

สวัสดีอีกครั้งค่ะ 
วันนี้เรามาชมกล้วยไม้ดินซิมบิเดียมกันนะคะ

     ซิมบิเดียมมีทั้งพันธุ์แท้ของไทย และลูกผสม  พันธุ์แท้ที่มีชื่อเสียง เช่น สำเภางาม (Cymbidium Insigne) ดอกสีชมพูอ่อน และ ซิมบิเดียมอินทนนท์ (Cymbidium Tracyanum) ดอกสีเหลืองสดมีลายเส้นสีแดงเข้ม ฯลฯ  ตามมาดูการทำดอกไม้ดินซิมบิเดียมกันเลยค่ะ










เตรียมส่วนของเกสรที่ลงสีแล้ว กลีบดอกชั้นในและชั้นนอก รวมห้ากลีบ
 
ประกอบดอกด้วยปาก(Lip)และกลีบทั้งห้า
 
ระบายสี และเส้นลายให้สวยงาม
 เตรียมต้นและใบซึ่งมีลักษณะเรียวยาว แล้วจัดเข้ากับช่อดอก
ได้ช่อซิมบิเดียมดอกไม้ดินที่สวยงาม

ดอกตูมซิมบิเดียมพร้อมกลีบเลี้ยง และลำต้น
ซิมบิเดียมหน่อเล็กๆ ที่เพิ่งขึ้น
จัดใส่กระถางดูแล้วสวยงามมาก กล้วยไม้ดินซิมบิเดียมมีทั้งต้นใหญ่ที่สมบูรณ์ออกดอกบานสะพรั่ง
 หน่อเล็กๆ และดอกตูมที่เพิ่งแทงช่อออกมา
ให้สังเกตมีใบแห้งสีเหลืองน้ำตาลปนอยู่ด้วย ดูเหมือนธรรมชาติมากทีเดียว
เป็นงานดอกไม้ดินญี่ปุ่นที่มีฝีมือประณีตอีกชิ้นหนึ่งค่ะ

All texts and images are copyrighted, with all rights reserved.
ข้อความและรูปภาพทั้งหมด มีลิขสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้คัดลอกส่วนใดในเว็ปบล็อกนี้ไปเผยแพร่ในทุกรูปแบบ

ฟาแลนนอฟซิส กล้วยไม้สุดฮิต Phalaenopsis

สวัสดีค่ะ เพื่อนๆ

     วันนี้  ขอแนะนำกล้วยไม้สุดฮิตสกุลหนึ่งที่คนนิยมปลูก ซื้อขายกันมาก  คงไม่มีใครปฎิเสธ  ฟาแลนนอฟซิส(Phalaenopsis)  ฟาแลนฯ มีก้านช่อยาว แข็ง ดอกมีกลีบกว้าง ทรงกลม มีหลายสี  ขาว ชมพู ม่วงชมพู ฯลฯ มีใบใหญ่สั้นและหนา อยู่ใกล้โคนต้น  มีดอกหลายขนาด เล็ก กลาง และใหญ่ ขณะดอกบานสามารถนำทั้งต้นมาใช้ทำต้นไม้ประดับในห้อง ในอาคาร ได้อย่างดี

 เก็บภาพการวิธีทำฟาแลนนอฟซิส จากดินญี่ปุ่นมาฝากค่ะ  เริ่มจาก...

1)  เตรียมเกสร ปากดอก และดอกตูม
2)  ประกอบปากและกลีบดอกทั้งห้าเข้าด้วยกัน
3)  ประกอบเป็นดอกแล้ว  เตรียมลงสี
4)  การระบายสี มีการไล่ระดับสีเข้ม อ่อน
5)  เข้าช่อ ทั้งดอกตูม ดอกแย้ม และดอกบาน อ่อนหวานสวยงามมากเลย
6)  สังเกตรายละเอียดของงาน เช่น การติดกลีบเลี้ยงเล็กๆ ทุกดอก  
                             
7)  ด้านซ้ายมือ  ช่อดอกที่เพิ่งแทงยอดออกมา
 8)  เตรียมใบ ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และประกอบสับหว่างเข้ากันเป็นต้น
9)  จัดใส่กระถางที่ปูด้วยมอสสีเขียวหนานุ่ม มีมิติสูงต่ำ ดูสวยงาม
 10)  กระถางนี้มี  4 ช่อ เป็นดอกขนาดใหญ่ และดอกตูมที่เพิ่งแทงช่ออีก 2 ช่อ แถมหน่อเล็กๆ อีกหน่ออยู่ด้านหน้า พอจัดเสร็จตั้งโชว์อวดฝีมือได้เลยค่ะ งานประดิษฐ์ฟาแลนนอฟซิสดอกไม้ดินญี่ปุ่นของเราสวยไม้แพ้ใคร  ตอนหน้าเรามาดูกล้วยไม้จากดินญี่ปุ่น-ซิมบิเดียมนะคะ  พลาดไม่ได้ค่ะ...
อ่านถัดไป (Cont.)

All texts and images are copyrighted, with all rights reserved.
ข้อความและรูปภาพทั้งหมด มีลิขสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้คัดลอกส่วนใดในเว็ปบล็อกนี้ไปเผยแพร่ในทุกรูปแบบ


2/25/2010

เรื่องน่ารู้ของกล้วยไม้

ตอนที่แล้ว  เราพูดถึงเรื่องน่ารู้ของกล้วยไม้แคทลียา และหวาย ไปแล้ว  เรามาต่อกันเลยนะคะ

ฟาแลนนอฟซิส (Phalaennopsis)

     ฟาแลนนอฟซิส  มีแหล่งกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชียเขตร้อน เช่นในหมู่เกาะบอร์เนียว ฟิลิปปินส์ ไทยและประเทศใกล้เคียง รวมทั้งไต้หวัน คนแต่ก่อนมักเรียกชื่อพื้นบ้านว่า มอธออร์คิด (Moth Orchid) เพราะเมื่อตอนแรกๆ ที่ค้นพบกล้วยไม้ชนิดนี้  เห็นตอนใกล้ค่ำจะคล้ายผีเสื้อกลางคืนเกาะกันเป็นกลุ่มอยู่กับต้นไม้

แวนดา (Vanda)

     แวนดา มีแหล่งกำเนิดในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะเขตร้อน ซึ่งมีแสงแดดตลอดและมีความชุ่มชื้นพอเพียง ประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดของกล้วยไม้แวนดาใบแบน หนึ่งในนั้นคือ แวนดา เซอรูเลีย (Vanda Coerulea) ซึ่งเราเรียกกันว่า ฟ้ามุ่ย เนื่องจากมีสีฟ้าอมม่วง นับเป็นสีที่หายากและเป็นที่นิยมกันมาก

ซิมบิเดียม (Cymbidium)

     ซิมบิเดียมมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชีย ซิมบิเดียมมีบทบาทสัมพันธ์อยู่ในวิถีชีวิตคนจีนมาตั้งแต่อดีต (อาจก่อนที่ฝรั่งจะรู้จักเสียอีก) มีการพบภาพเขียนกล้วยไม้สกุลนี้ ในเครื่องเคลือบดินเผาโบราณ ภาพเขียนเก่าแก่ในกระดาษสา และตามฝาผนังในพระราชวังโบราณของจีน สำหรับประเทศไทยก็พบซิมบิ
เดียม ในภาคเหนือ ภาคกลางและลงไปถึงภาคใต้

ช้าง (Rhyncostylis)
   
     สกุลช้าง เป็นกล้วยไม้พื้นบ้านที่มีเกียรติประวัติเป็นที่เชิดหน้าชูตา และมีบทบาทสำคัญในยุคเริ่มแรกของการพัฒนาวงการกล้วยไม้ไทย ซึ่งก้าวขึ้นสู่ระดับโลกอย่างสำคัญ เป็นกล้วยไม้ทรงต้นเตี้ย มีช่อดอกรูปทรงกระบอกโค้ง ดอกมีกลิ่นหอม  มีทั้งช้างกระ ช้างเผือก ฯลฯ

รองเท้านารี (Paphiopedilum)
   
     รองเท้านารี  มีแหล่งกำเนิดในภูมิภาคเอเชีย ที่เป็นภูเขาสูง อากาศเย็น บนเทือกเขาหิมาลัย รวมทั้งไทยด้วย เช่น บริเวณดอยอินทนนท์ ภูหลวง ภูกระดึง ฯลฯ

ที่มา: กล้วยไม้สำหรับผู้เริ่มต้น และกล้วยไม้รองเท้านารี, ระพี สาคริก

     กล้วยไม้บางพันธุ์ก็หายากและใกล้สูญพันธุ์ จึงอยากเชิญชวนกันให้ช่วยกันอนุรักษ์ด้วยค่ะ ประดิษฐ์เองด้วยมือดีกว่านำออกมาจากป่านะคะ เพื่อนๆ เห็นประโยชน์จากการทำดอกไม้ดินหรือยังคะ  พอเราทำดอกไม้ดิน  เราก็จะเริ่มรู้จักดอกไม้ต่างๆ มากขึ้น เช่น อย่างน้อยๆ ตอนนี้เราก็รู้ว่ากล้วยไม้สกุลอะไร หน้าตาเป็นอย่างไร   แล้วติดตามต่อตอนหน้านะคะ

2/24/2010

ประโยชน์การทำดอกไม้ดิน (3) - Benefits of making clay flowers (3)

ประโยชน์การทำดอกไม้ดิน (ต่อ)

5)  เป็นงานอดิเรกที่ทรงคุณค่าอย่างหนึ่ง
  
ทำไว้ใช้ตกแต่งประดับบ้าน ให้มีบรรยากาศสดชื่น แจ่มใส หรอว่าถ้าเพื่อนๆ ทำดอกไม้ดินญี่ปุ่นได้สักกระถางหนึ่ง แล้วนำไปมอบให้กับผู้ใหญ่หรือคนที่เราเคารพรักหรือเพื่อนฝูง ไม่ว่าจะมอบในโอกาสใด เทศกาลใด ดอกไม้ประดิษฐ์จากดินญี่ปุ่นนั้นจะเป็นของขวัญที่ทรงคุณค่าอย่างหนึ่ง เป็นสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ

6)  เป็นรายได้เสริม

บางคนหัดทำดอกไม้ดินแล้วให้เพื่อน  หรือผู้ใหญ่ แต่มีคนชอบ ก็สั่งทำ มีรายรับเข้ามาอยู่เรื่อยๆ บางท่านก็ประสบความสำเร็จจากการเริ่มทำดอกไม้ดินญี่ปุ่น ดอกไม้ดินไทย ที่เป็นงานอดิเรก แล้วต่อมากลายเป็นอาชีพ เปิดร้านจำหน่ายดอกไม้ดินญี่ปุ่น ดิำนไทยและรับสอนก็มี  ทั้งในและต่างประเทศ  โดยเฉพาะคนไทยที่รักการประดิษฐ์ดอกไม้ดินอยู่ในต่างประเทศ  หลายๆ ท่านไปสร้างผลงานมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จและและได้รับรางวัลประกวดต่างๆ มากมาย ฯลฯ 

ดอกไม้ ของขวัญที่มอบให้ได้ทุกเทศกาล
   
หากคิดไม่ออกว่าจะมอบอะไรดีให้กับใครสักคน ก็ให้คิดถึงดอกไม้ดินสักช่อ หรือสักกระถาง รับรองได้เลยว่าจะเป็นของขวัญที่คนรับ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงทั้งหลายต้องปลื้ม เพราะสามารถเก็บไว้ชมความงามได้นานหลายปี และ นึกถึงผู้ให้ได้เสมอ ดอกไม้ดินนั้นไม่เสียเวลาบำรุงรักษา หากมีฝุ่นก็เพียงใช้แปรงขนอ่อนหรือพู่กันปัดฝุ่นออกก็สวยงามเหมือนเดิมแล้วค่ะ
หวังว่าเพื่อนๆ คงชอบดอกไม้ดินญี่ปุ่นสวยๆ ที่นำมาให้ชมนะคะ  แล้วพบกันใหม่ค่ะ


All texts and images are copyrighted, with all rights reserved.
ข้อความและรูปภาพทั้งหมด มีลิขสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้คัดลอกส่วนใดในเว็ปบล็อกนี้ไปเผยแพร่ในทุกรูปแบบ


2/23/2010

ประโยชน์การทำดอกไม้ดิน (2) - Benefits of making clay flowers (2)

ประโยชน์การทำดอกไม้ดิน  (2)
ข้อแรกได้กล่าวไปแล้ว คือ เป็นการเพิ่มพูนความรู้ทางอ้อม  และยังมีประโชน์อีกดังนี้ค่ะ

2) ช่วยให้เป็นคนช่างสังเกต
      
     คนทำดอกไม้ที่ฝีมือเยี่ยม จะทราบดีว่าต้องหมั่นดูและสังเกตดอกไม้ ต้นไม้มากขึ้น เพื่อดูว่าของจริงมีลักษณะอย่างไร มีสีอะไร กลีบดอกเป็นอย่างไร ดอกตูม ดอกบาน ใบ เป็นอย่างไร ฯลฯ จะได้นำไปประดิษฐ์ดอกไม้ของเราให้งามเหมือนที่ธรรมชาติสร้างมา

ประโยชน์การทำดอกไม้ดิน (1) - Benefits of making clay flowers (1)

สวัสดีค่ะ
เพื่อนๆ ได้ชมดอกไม้สวยๆ ที่ทำจากดินญี่ปุ่นมาหลายแบบแล้ว เช่น กุหลาบ บัว กล้วยไม้ ชวนชม ต้นกล้วย ฯลฯ อีกทั้งทราบว่าวัสดุอุปกรณ์ ที่ต้องใช้มีอะไร เพื่อนๆ ทราบไหมว่า การทำดอกไม้ดินให้ประโยชน์อะไรได้บ้าง


1) เพิ่มพูนความรู้
ใครจะทราบว่า นอกจากเราจะได้ดอกไม้ดินญี่ปุ่นที่สามารถเก็บไว้ได้นานเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีแล้ว เรายังได้เรียนรู้ว่าดอกไม้นั้น ชื่อว่าอะไร พันธุ์อะไร รู้โครงสร้างของดอกไม้ว่าส่วนไหนเรียกว่าอะไร  อย่าเพิ่งงงนะคะ จะยกตัวอย่างง่ายๆ ให้ฟังค่ะ


สมมุติว่า เราจะทำดอกกล้วยไม้แคทลียา (Cattleya) เราก็จะทราบส่วนประกอบของดอกว่ามีอะไรบ้าง เช่น เริ่มจากการทำเกสร ปาก (Lip) กลีบดอกทั้งห้า (กลีบนอก-Sepal กลีบใน-Petal) หลังจากทำดอกเสร็จแล้ว ก็ทำใบ (Leaf) ต้น (Stalk) หรือที่ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า ลำลูกกล้วย (Psuedo-bulp) และราก(Root) เห็นไหมคะว่าเราได้เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมขึ้นมาแล้ว จากแรกๆ ที่เรามีความรู้อย่างผิวเผิน



กล้วยไม้นั้นมีหลายพันธุ์ หลายสกุล แต่ที่นิยมทำด้วยดินญี่ปุ่น หรือดินไทยกันมาก ได้แก่ แคทลียา หวาย ฟาแลนนอฟซิส แวนดา ซิมบิเดียม ช้างกระ รองเท้านารี ฯลฯ เรามาดูเรื่องน่ารู้พอสังเขปของกล้วยไม้เหล่านี้กันนะคะ

แคทลียา (Cattleya)
เพื่อนๆ ทราบไหมว่า กล้วยไม้สกุลแคทลียา มีแหล่งกำเนิดมาจากเขตร้อนของทวีปอเมริกา ซึ่งเป็นดินแดนเก่าแก่ของโลก ชาวยุโรปได้นำเข้ามาเผยแพร่ในบ้านเราพร้อมเทคโนโลยีในการปลูกกล้วยไม้สู่เจ้านาย และข้าราชการในระดับสูง ระหว่างที่เดินทางเข้ามาทำงานในไทย

หวาย (Dendrobium)

สกุลเด็นโดรเบียม นิยมเรียกกันจนติดปากว่า หวาย มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย เป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ มีการกระจายรูปลักษณะอย่างกว้างขวาง และปัจจุบันประเทศไทยเราส่งออกหวายมากที่สุดในโลก

อ่านถัดไป(Cont)

All texts and images are copyrighted, with all rights reserved.
ข้อความและรูปภาพทั้งหมด มีลิขสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้คัดลอกส่วนใดในเว็ปบล็อกนี้ไปเผยแพร่ในทุกรูปแบบ