RSS

3/12/2010

สตรอเบอรีดินญี่ปุ่น-Make Clay Strawberry (1)

สวัสดีค่ะ
     นี่ก็จะกลางเดือนมีนาคมแล้ว  แต่เราก็ยังเห็นสตรอเบอรีผลสดขายอยู่เกลื่อนกลาดในกรุงเทพฯ  เมืองไทยของเรานี้ดีจริงๆ ที่มีผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ และความช่วยเหลือของโครงการหลวง ซึ่งทำให้เราสามารถเพาะปลูกพืช ผัก ผลไม้เมืองหนาวได้หลายชนิด  ทั้งบางชนิดที่ไม่เคยปลูก ก็ปลูกได้แพร่หลายในบริเวณที่อยู่สูงๆและอากาศเย็น  เช่น สตรอเบอรี  ผลไม้สุดโปรดของหลายๆ ท่าน  รสชาดหวานอมเปรี้ยวกำลังดี ฉ่ำชุ่มคอ ชื่นใจทุกครั้งที่ได้รับประทาน...  น่าชื่นชมในโครงการหลวงซึ่งในหลวงของเราทรงมีพระราชดำริขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกหมู่เหล่าจริงๆค่ะ  อย่างน้อยๆ โครงการหลวงนี้ก็ช่วยเหลือชาวดอยให้มีอาชีพมั่นคง และเราชาวเมืองก็มีสตรอเบอรีสดๆ อร่อยๆ ทานกันในราคาที่ไม่แพงเหมือนสมัยก่อน หรืออาจจะไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เพราะเมื่อก่อนนี้สตรอเบอรีสดนำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาสูงมาก 


สตรอเบอรีในไทย
     โครงการหลวงได้นำสายพันธุ์มาจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาทดลองปลูก ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 พัฒนาต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน จนเหมาะกับสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของบ้านเรา แล้วในหลวงฯ ทรงพระราชทานให้กับชาวบ้านและเกษตรกร เลยเรียกชื่อกันว่าพันธุ์พระราชทาน ปัจจุบันมี สตรอเบอรี่พันธุ์ 50 ซึ่งตรงกับปีกาญจนาภิเษก พันธุ์พระราชทาน 70 และ 72 ตรงกับพระชนมายุ และพันธุ์พระราชทาน 60 ตรงกับปีทรงครองสิริราชสมบัติ สำหรับพันธุ์พระราชทาน 80 ตรงกับพระชนมายุ 80 พรรษา เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา

พูดถึงแล้ว  ก็เลยนึกอยากจะทำสตรอเบอรี่ขึ้นมาเองจากดินญี่ปุ่น  เพื่อนๆ หลายคนก็คงสนใจ เพราะความที่มีผลสีแดงสดใส ตัดกับใบสีเขียว และดอกสีขาวบริสุทธิ์

การทำสตรอเบอรีดินญี่ปุ่นและทิปน่ารู้
คราวนี้เอาใจมือใหม่(หัดทำดอกไม้ดิน)ซะหน่อย  คือจะแสดงให้เห็นทุกขั้นตอนอย่างละเอียดจ้ะ
1)  เตรียมโฟมขนาดต่าง ๆ  อาจจะใช้ 4-5 ขนาดก็ได้


2)  ตัดแต่งด้วยคัตเตอร์ ให้เป็นลักษณะลิ่มได้รูปดังภาพ (เหลาด้านข้างให้เรียวลง ทั้งสองด้าน)  ถ้าอยากได้ผลสตรอเบอรีลักษณะกลมๆ ก็ไม่ต้องเหลาค่ะ

ลักษณะโฟมที่ตัดแต่งแล้ว

3)  ลวดเบอร์ 22 พับปลายด้วยคีมปากจิ้งจก  จำนวนลวดเท่ากับผล  ใช้ลวดยาวไม่ต้องตัด

4)  ทากาวลาเท็กซ์ที่ลวด  แล้วทิ่มลงที่หัวของโฟมลึกประมาณครึ่งผล เพื่อให้แน่น ไม่หลวมหลุด

5)  ดินผสมด้วยสีเหลืองเบอร์ 8  รีดด้วยเครื่องรีดเบอร์ 5 ให้หนาหน่อย หากเป็นมือใหม่แนะนำว่าไม่ควรรีดดินจำนวนมาก  เพราะหากทำช้าดินจะถูกอากาศและเริ่มแข็ง ทำให้รอยเชื่อมต่อไม่สวย และการกดลวดลายที่ผิวสตรอวเบอรีจะไม่ชัดเจน ซึ่งจะกล่าวในข้อต่อไป

6)  ตัดดินให้ได้ขนาดใหญ่กว่าผลโฟมที่ต้องการหุ้ม  โดยนำผลโฟมมาวางบนดินที่รีดแล้ว  เพื่อกะขนาดให้ดินสามารถหุ้มโฟมได้หมด


7)  ทากาวลาเท็กซ์บางๆ ที่โฟมให้ทั่ว  นำดินสีเหลืองมาหุ้มให้มิด ทิป ใช้กาวทาเหนือหัวแม่โป้ง แล้วนำโฟมหมุนไปมาที่กาวให้ทั่ว

8)  ใช้กรรไกรตัดดินส่วนเกินออก แล้วคลึงด้วยเหล็กปลายแหลมให้เนียนเรียบติดกับโฟม อย่าลืมทำก้านผลด้วย  โดยใช้เนื้อดินดึงลงมาเล็กน้อย สักประมาณ 1 ซม. ค่ะ

9)  ทำรอยบากเป็นสี่เหลี่ยมที่ปลายผล ด้วยเหล็กปลายแหลม

10)  ทำลวดลายที่ผล  หลายๆ คนคงฉงนว่าลวดลายที่ผลสตรอเบอรีทำได้อย่างไร ทำด้วยอะไร  เคล็ดลับก็คือ  การใช้ Cotton Bud (ก้านสำลีปั่นหู )ที่ตัดปลายให้เฉียงประมาณ 45 องศา  โดยกดลงบนดินที่ผลแล้วลากลงมาเล็กน้อยให้เกิดรอยย่นเพียงเล็กน้อย เริ่มจากปลายผล(รอยบาก)ก่อนแล้วไล่มายังขั้วผล  ทิป ควรไล่เรียงให้เป็นแถวเป็นแนว  (นำผลสตรอเบอรีจริงมาดูเลยค่ะ)

11)  นำผลที่กดลวดลายแล้วห้อยแขวนกับราวเชือก หรือไม้แขวนเสื้อ ระวังไม่ให้ผลติดกัน เพราะดินอาจยังไม่แห้ง  พักขั้นตอนนี้ไว้ก่อนค่ะ

ตอนหน้าเรามาลงสีกัน พร้อมแนะเทคนิคการทำผลสตรอเบอรีดินญี่ปุ่นให้ดูใกล้เคียงกับของจริงนะคะ

อ่านถัดไป

All texts and images are copyrighted, with all rights reserved.
ข้อความและรูปภาพทั้งหมด มีลิขสิทธิ์ ไม่อนุญาตให้คัดลอกส่วนใดในเว็ปบล็อกนี้ไปเผยแพร่ในทุกรูปแบบ